รู้จักหลิน

หลินได้รับโอกาสจาก The CEO Blogger มาสัมภาษณ์ว่าทำไมถึงมาเป็นนักเขียนได้ คิดว่าจะเป็นประโยชน์หรือแรงบันดาลใจกับคนอื่นๆ บ้าง ลองอ่านดูนะคะ^^

วันละชั่วโมงหลังเวลางาน: Passive Income ห้าปีซ้อนจาก Book, Ebook และ Amazon Kindle


New Microsoft PowerPoint Presentation

ผมอ่านเรื่องราวของผู้หญิงคนนี้แล้วนึกถึงบทความหนึ่งที่ผมเคยโพสต์ไว้ชื่อ แอบทำวันละ 1 ชั่วโมงปั้นแบรนด์ผ้าพันคอเงินล้านออนไลน์ ของสาวเก่งโซอี้ แต่กรณีนี้เป็นสาวที่สร้างรายได้จาก Information products อย่าง หนังสือ, หนังสืออีบุ๊คไทย, และอีบุ๊คต่างประเทศ
คุณหลิน เป็นคนไทยที่ใช้เวลาเพียงวันละไม่มีกี่ชั่วโมงหลังงานประจำให้กับงานเขียน ผลิตหนังสือเล่มออกขายผ่าน ซีเอ็ด ร้านนายอินทร์ และ B2S — ปัจจุบันมีคอร์สสัมมนาสอนเขียนและคอร์สออนไลน์ แทบจะครบวงจรนักธุรกิจขายความรู้!
วันนี้คุณหลินให้เกียรติสัมภาษณ์ลงเว็บไซต์ The CEO Blogger ไปค้นพบเส้นทางการเป็นนักเขียนของเธอกันเลยครับ!

1. แนะนำตัวกับผู้อ่าน The CEO Blogger ครับ

สวัสดีค่ะ หลิน อัจฉรินทร์ อิทธิศิลป เรียนจบนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโทเรียนที่ธรรมศาสตร์ คณะภาษาอังกฤษเพื่ออาชีพ
ทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือนเต็มขั้นมาตลอดไม่เคยมีอาชีพเสริมใดๆ ในชีวิตทั้งสิ้น ทำไม่เป็นและไม่คิดจะทำจนกระทั่งปี 2006 ตอนนั้นทำงานอยู่ที่บริษัทร่วมทุนปูนซิเมนต์ไทย ก็ตัดสินใจลาออกไปเรียนต่อเมืองจีน โดยไม่มีพื้นฐานภาษาจีนแม้แต่น้อย ได้ 3 คำมาตรฐานค่ะคือ Yes, No และ OK
ตอนจะไปมีแต่คนคัดค้านสุดฤทธิ์สุดเดช ไม่มีใครเห็นด้วยสักคน สมัยนั้นก็ไม่ใช่สาวรุ่นๆ ค่ะ เพราะตัวเองเก็บเงินไปเรียนเอง ตอนทำงานก็เรื่อยเปื่อยใช้เงินหมด เดือนชนเดือนบ้างกว่าจะเก็บเงินได้ ทุกคนบอกว่างานดีๆ อย่างนี้หาได้ที่ไหน กลับมาจะได้งานอย่างนี้อีกไหม แล้วเรียนภาษาจีนจะมาเป็นครูสอนหรือไง เป้าหมายคืออะไร ฯลฯ
สรุปคือไม่มีใครเห็นด้วยค่ะแต่ตัวเองก็จะไป เป้าหมายไม่มีค่ะ (ตอนนั้น) แต่คิดอยู่อย่างว่าตอนนั้น เพื่อนแวดล้อมมหาลัยเกือบทุกคนในกลุ่ม ไปเรียนต่อต่างประเทศกันหมด ส่วนใหญ่เป็นอังกฤษหรือไม่ก็อเมริกา และในอายุขนาดนี้ เค้าเรียนกันจบมาหมดแล้ว คำถามต่อตัวเองคือ…
1. เก็บเงินไปเรียนต่ออเมริกาหรืออังกฤษเองไหวไหม คำตอบก็คือไม่ไหว อเมริกาต้องมี 2 ล้านบาท อังกฤษ 1 ล้านขึ้นไป (สมัยนั้น)
2. ถ้าไปตายเอาดาบหน้า (ทำงานไปด้วย เสริฟอาหารไปด้วย แบบที่เคยได้ยิน) ใช้เวลากี่ปี กลับมาตอนอายุเท่าไหร่ คำตอบของตัวเองคือกว่าจะกลับมาเพื่อนๆ คงไปกันไกลแล้ว เราเรียนด้วยทำงานไปด้วย ต้องใช้เวลาเกินมาตรฐานอยู่ดี (ปกติ 1-2 ปี) กลับมาหางานทำจะทันเพื่อนได้ยังไง สรุปอาจจะได้ตายจริงๆ
เมื่อคิดแล้วอย่าช้าค่ะ ฉีกแนวดีกว่าในบรรดาภาษาทั้งหมดในโลกนี้ นอกจากภาษาอังกฤษ ภาษาอะไรใช้มากที่สุด? ถามตัวเองอีกที
จากนั้นไปเลยลาออกจากงานไปเมืองหังโจวประเทศจีนก่อนเลย ไม่มีญาติพี่น้อง ไม่รู้จักใคร ภาษาไม่ได้ ที่เลือกเมืองหังโจวเพราะคนไทยน้อยแต่เมืองเจริญแล้ว คนไทยส่วนใหญ่จะอยู่เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่งและกว่างโจว จะได้บังคับตัวเองให้พูดได้เร็วๆ ติดต่อมหาวิทยาลัยเอง ไม่ผ่านเอเยนซี่ (เปลืองตังค์) สำคัญคือคนจีนส่วนใหญ่ 90-95% พูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลยค่ะ ได้ฝึกสมใจอยาก
พอไปเรียนจริงๆ น้ำตาทั้งแทบไหลและไหลจริงค่ะ คิดบ่อยๆ ว่า คิดผิดแล้วเรา ไม่น่าลาออกเลย คนอื่นก็บอกแล้วทำไมไม่เชื่อ สารพัดสารพันปัญหาอุปสรรค สรุปว่าใช้เวลาเรียนไป 2 ปีค่ะ

2. เริ่มต้นเป็นนักเขียนตอนไหนครับ

หลังจากกลับมาเมืองไทย โดยช่วงแรกกลับมาเคว้งคว้างมากหางานทำไม่ได้ ภาษาจีนก็เอามาใช้ในงานไม่ได้ เงินเก็บหมดจากค่าเรียน ตอนกลับมาเหลือเงิน 5 หมื่นบาท ผ่านไปสักพักได้งานประจำทำเป็นหลักแหล่ง สรุปว่าปัจจุบันทำงานบริษัทชื่อดังแห่งหนึ่งแล้วก็ปักหลักทำยาวมากว่า 5 ปี
พองานประจำเข้าที่ก็เริ่มเข้าสู่เส้นทางนักเขียนค่ะ คิดมาตลอดว่าเรียนมาแล้วจะใช้ทางไหนดีที่จะเกิดประโยชน์กับตัวเอง คิดๆ คิดตกแล้วไม่รอช้า ตัดสินใจลองเขียนต้นฉบับหนังสือภาษาจีนขึ้นมา แล้วเอาไปเสนอสำนักพิมพ์ค่ะ
โชคดีที่สำนักพิมพ์สนใจและได้พิมพ์หนังสือภาษาจีนเล่มแรกโดยขายผ่าน ซีเอ็ด, นายอินทร์, และB2S หนังสือขายดีติดอันดับ Top 100 Best Seller ของซีเอ็ดหมวดภาษาค่ะ เลยทำให้มีเล่มที่ 2, 3 และ 4 คลานออกมาเรื่อยๆ ได้แก่
Mind Map ศัพท์จีนแบบเน้นๆศัพท์จีนที่คุณต้องรู้Mind Map พูดจีนแบบเน้นๆคู่มือเริ่มต้นฝึกจีนกลาง
โชคดีที่หนังสือขายดีมาตลอด 5 ปี และขณะนี้มีอีก 2 เล่มที่กำลังจัดหน้าและกำลังเขียนรออยู่ค่ะ ต้องขอขอบคุณคุณผู้อ่านอย่างสูงที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่นและอนุเคราะห์ “สุ่ยหลิน” (นามปากกาของหลิน) มาโดยตลอด

3. นักเขียนถูกนิยามว่าไส้แห้ง แต่คุณหลินไม่เห็นเช่นนั้น อยากให้เล่าประสบการณ์นักเขียนของคุณหลินว่าประสบพบเจอสิ่งใดเป็นเหตุให้เห็นว่านักเขียนเป็นอาชีพสร้างรายได้ดี 

ปัจจัยสำคัญคือหนังสือที่เขียนขายต้องเป็นหนังสือที่ได้รับความนิยม ต้องขายได้เป็นที่ต้องการ ซึ่งปัจจัยที่หนังสือจะขายได้หรือขายดี สำหรับหลินเองมีอยู่ด้วยกันสองอย่างค่ะ…

a) Market Size:

ยกตัวอย่าง ถ้านึกถึงหนังสือ Guide Book สำหรับคนไทย แนวเกาหลี ญี่ปุ่น หรือ อังกฤษ และ อเมริกา ได้รับความนิยมมากที่สุด แต่ถ้าเราเป็นผู้เชี่ยวชาญนำเที่ยวประเทศกานา ถามว่าขายได้ไหม? คิดว่าขายได้แต่น่าจะเป็น niche market มากกว่า
นักเขียนเองก็ต้องยอมรับว่าคนที่จะสนใจไปเที่ยวกานาย่อมน้อยกว่า เกาหลี ญี่ปุ่น หรือ อังกฤษ อเมริกาแน่ๆ โอกาสจะขายดีก็น้อยลง รวมไปถึงโอกาสจะได้ตีพิมพ์หนังสือผ่านสำนักพิมพ์ก็จะน้อยลง เพราะสำนักพิมพ์ก็กลัวจะเสี่ยงขายไม่ออกเหมือนกัน
สรุปก็คือ market size ในเรื่องที่เราถนัดนั้นใหญ่หรือเล็ก ถ้าใหญ่พอ (ไม่ต้องที่ 1 ก็ได้) เปรียบเทียบว่าคนไทยชอบไปเที่ยวญี่ปุ่นที่สุด แต่ถ้าเราเชี่ยวชาญเรื่องอเมริกาก็มีความเป็นไปได้ที่ลงเล่นในสนามนี้ แต่ถ้าคำตอบว่า market size ของเราขนาดเล็กก็ยังมีทางออกให้ โดยทำหนังสืออีบุ๊คจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุดค่ะ เพราะทำเองขายเอง ไม่ต้องง้อสำนักพิมพ์ ตอบโจทย์ตลาด niche market โดยแท้

b) Distribution Channel:

เดี๋ยวนี้อาชีพนักเขียนพัฒนาแล้ว ไม่เพียงเฉพาะค่าลิขสิทธิ์ที่ได้จากการเขียน นักเขียนยังได้เต็มๆ จากการขาย eBook ซึ่งไม่มีค่าสำนักพิมพ์ ค่าบรรณาธิการ ค่ากระดาษและค่าโรงพิมพ์ ส่วนค่าจัดจำหน่ายก็ถือว่าต่ำกว่ามากเมื่อเทียบกับหนังสือแบบเล่ม
นอกจากนี้ นักเขียนยังต่อยอดเป็นคอร์สสัมมนาทั้งหลายที่เห็นกัน ไม่ว่าจะเป็นสัมมนาแบบเจอหน้าหรือคอร์สออนไลน์เรียกได้ว่าครบวงจรทีเดียว

4. ช่วยขยายความเรื่องนักเขียนสู่คอร์สสัมมนาและคอร์สออนไลน์ครับ

ข้อดีของ คอร์สสัมมนาแบบเจอหน้า ก็คือได้เจอตัวจริงของคนที่เราอยากเรียนด้วย ถาม-ตอบได้เฉพาะหน้าทันที คำตอบก็ได้เดี๋ยวนั้น ได้ connection ของคนที่สนใจในเรื่องคล้ายๆ กันแต่ background แตกต่างกัน ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ชีวิตและความรู้ ซึ่งส่วนตัวแล้วหลินค้นพบด้วยความทึ่งว่า
คนที่จ่ายเงินมาเรียนคอร์สนั้นหลายคนมีประสบการณ์ที่ไม่ธรรมดา เอาเป็นว่าถ้าหลินไม่เปิดคอร์สหรือไม่ได้เข้าเรียนในคอร์สอื่น ๆ คงไม่มีโอกาสได้เจอคนเก่งเทพๆ เหล่านี้เป็นแน่ โดยเฉพาะคอร์สขนาดเล็ก (5-20 คน) จะทำให้เรามีโอกาสได้รู้จักกับคนเก่งคนอื่นอย่างใกล้ชิดค่ะ
ส่วน คอร์สออนไลน์ จุดเด่นสำคัญคือไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลาและสถานที่ในการเรียน เรียกง่ายๆ เรียนเมื่อไหร่ ที่ไหนก็ได้ จะเรียนซ้ำก็ได้ไม่ต้องเสียเงิน ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่เวลาเป็นเงินเป็นทองได้เป็นอย่างดี

5. แปลว่าเมื่อเร็วๆนี้คุณหลินเขียนอีบุ๊คต่างประเทศด้วย อยากให้เล่าว่าอะไรคือแรงบันดาลใจในการก้าวไปในตลาดนั้น

Cover

หลังจากเขียนหนังสือภาษาจีนได้สักพัก ก็เริ่มคิดว่าอยากจะเพิ่มทางเลือกให้กับตัวเองบ้าง นอกจากขายหนังสือผ่านสำนักพิมพ์ ก็คิดต่อว่าตลาดอะไรที่ขายหนังสือได้อีกนอกจากเมืองไทย มีกำลังซื้อจำนวนมาก หาข้อมูลไปมาก็เจอ Amazon.com ซึ่งเป็นตลาด eBook ที่ใหญ่ที่สุดในโลกค่ะ

ตอนแรกหลินพยายามหาข้อมูลจากคนไทยที่เคยเอาหนังสือไปขายที่ Amazon.com แต่ปรากฏว่าเมื่อปีที่แล้ว มีข้อมูลพวกนี้น้อยมาก หาแทบไม่ได้ เลยตัดสินใจว่าไหนๆ จะทำแล้ว ลงทุนลงแรงไปเยอะแล้วก็จะทำให้สำเร็จให้ได้ เลยตัดสินใจลองผิดลองถูก ศึกษาเอง ทำเองอยู่หลายเดือนจนเอาหนังสือไปขาย Amazon.com ได้สำเร็จ
หลังจากเอาหนังสือไปขายที่ Amazon.com แล้วหลินจึงเขียนหนังสืออีบุ๊ค “สร้างเงินด้วยงานเขียน amazon kindle” ขายที่ ookbee และ mebmarket ค่ะ โดยบอกเล่าวิธีทั้งหมดในการเอาหนังสือไปขายที่ Amazon แบบทุกเสต็ปค่ะ
สร้างเงินด้วยงานเขียน amazon kindle หนังสือ Best Seller ของ ookbee อันดับ 3 ในหมวดคู่มือและอันดับ 7 ในหมวดธุรกิจการลงทุน (ข้อมูลวันที่ 15 กค. 2558)

6. Amazon Kindle E-book ต้องเขียนเป็นภาษาอังกฤษซึ่งเป็นเรื่องยากสำหรับคนไทย อยากให้เล่าประสบการณ์และกระบวนการทำงานครับ

พอบอกว่าต้องขายหนังสือเป็นภาษาอังกฤษ ต้องดำเนินธุรกรรมต่างๆ เป็นภาษาอังกฤษ คนไทยส่วนใหญ่ร้องยี้ เพราะคิดว่ายาก คิดว่าวุ่นวาย คิดว่าเสียเวลา แล้วก็ขี้เกียจทำไปในที่สุด
จริงๆ หลินอยากจะบอกว่า  Amazon ตั้งใจทำระบบมาเพื่อรองรับให้ “ใครก็ได้” เขียนหนังสือขายได้อยู่แล้วค่ะ ดังนั้นเรื่องอะไรที่ยุ่งยาก ที่คนทั่วไปจะทำไม่ได้ Amazon มีเครื่องมือทำให้หมด ไม่ว่าจะเป็นออกแบบหน้าปก วิธีจัดหน้า ประเภทไฟล์ที่ใช้โหลด (ใช้ไฟล์ word ก็ได้) กราฟฟิกต่างๆ และอื่นๆ ซึ่งทั้งหมดมีเครื่องมือใน Amazon ให้ใช้ “ฟรี” หมดเลยค่ะ
แต่ที่นี้ด้วยความที่ฝรั่งเป็นคนคิดระบบนี้ขึ้นมาจึงไม่รองรับภาษาไทย และเป็นเหตุผลเดียวที่มีที่คนไทยจะยุ่งยากหน่อยเวลาทำหนังสือขาย ไม่ว่าอัพโหลดไฟล์ ทำเรื่องธุรกรรมภาษี ทำโปรโมชั่นขาย วิธีโอนเงินกลับมาไทย ฯลฯ แต่ถ้าพ้นเรื่องนี้ไปแล้ว ไม่ใช่เรื่องยากเกินไปค่ะ

a). การคิดเรื่องที่จะเขียน

สำหรับหลิน เวลาจะเขียนเรื่องอะไรใน Amazon ใช้วิธีการไม่แตกต่างจากที่ตัวเองเขียนหนังสือขายในไทยค่ะ คือเข้าไปดูคู่แข่งหนังสือประเภทเดียวกัน ว่าเขาทำอะไรกันและจะทำอย่างไรให้ดีกว่าเขาได้ กระซิบนิดนึงว่าเรื่องไทยๆ ใน Amazon มีคนไทยทำน้อยมากค่ะมีแต่คนต่างชาติทำ ที่สำคัญเป็นเรื่องไทยจริงๆ หรือเปล่าไม่รู้

b). การผลิตต้นฉบับ

เมื่อได้เรื่องจะเขียนแล้ว หลินใช้วิธีเขียนต้นฉบับเป็นภาษาไทยก่อนค่ะ ตรวจต้นฉบับเรียบร้อยแล้วก็ส่งแปลเป็นภาษาอังกฤษ ค่าใช้จ่ายในการแปล (ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายเดียวที่มี เพราะที่เหลือทำเองได้) ขึ้นกับความยากง่ายของต้นฉบับ ถ้าระดับนิยายค่าแปลจะแพงมากที่สุด จากนั้นก็จะลดหลั่นลงมาตามความยากง่ายของภาษาที่ใช้ในหนังสือ
นักแปลที่ใช้ก็ใช้นักแปล freelance ทั้งหลาย โดยวิธี search เข้าไปหาจากในอินเตอร์เนตโดยใช้ keyword: Translators and Interpreters เล่มที่หลินทำเสียค่าแปลไปทั้งหมด 15,000 บาทค่ะ ส่วนวิธีตั้งราคาขายจะดูจากราคาหนังสือคู่แข่งที่ใกล้เคียงกับเราว่าเขาตั้งราคากันเท่าไหร่ แล้วตั้งราคาให้กลางๆ ไม่ถูกสุดและไม่แพงที่สุด

7. Mindset สำคัญในการเป็นนักเขียนที่ประสบผลลัพธ์ที่ดีในมุมมองของคุณหลิน

ตอนเริ่มงานเขียนใหม่ๆ นักเขียนจะไม่ได้ผลตอบแทนในรูปของตัวเงินเลยค่ะ ซึ่งจริงๆ แล้วก็ไม่ต่างกับการ start up ธุรกิจที่ช่วงแรก ๆ จะไม่เห็นผลอะไรซักอย่าง ทำฟรี เหนื่อยฟรี และบางทีเสียเงินฟรีๆ ด้วยค่ะ และช่วงนี้นั่นเองค่ะคือช่วงวัดใจ ใครจะเลิกใครจะไปต่อ รู้ๆ กันในช่วงนี้
แต่เป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่คนส่วนใหญ่เลิกจะทำต่อ หลังจากทำช่วงแรกๆ แล้วไม่มีอะไรเกิดขึ้นสักอย่าง ถ้าเป็นนักเขียนก็เช่น ไม่มีคนอ่าน ไม่มีคนสนใจ สำนักพิมพ์ไม่พิจารณาต้นฉบับ ส่งไปแล้วเงียบกริบ เบื่อ เหนื่อย ท้อ เซ็ง ฯลฯ เพราะปัญหาก็คือช่วงวัดใจนี้ไม่มีใครบอกได้ว่านานเท่าไหร่ บางคนสั้นบางคนยาว นี่เองเลยเป็นเหตุผลว่าทำไมเขาถึงบอกให้ทำงานที่รักเพราะจะได้เป็นแรงขับให้สู้ต่อไปได้

ความสม่ำเสมอคือหัวใจสำคัญ

ช่วงแรกที่หลินเขียนต้นฉบับหนังสือเล่มแรกใช้เวลารวมพิมพ์ด้วยเกือบปีค่ะ เขียนทุกวันๆ หลังเลิกงาน โดยไม่มีอะไรการันตีเหมือนกันค่ะแต่พยายามปลุกใจตัวเองให้ฮึกเหิมอยู่ทุกวัน พยายามที่จะทำต่อไป ๆ วันละนิดๆ ก็ยังดี ดีกว่าไม่ทำหรือเลิกไปเลย แล้วตั้งเป้าว่าจะต้องเสร็จภายในวันไหนแล้วพยายามทำให้ได้ อันนี้คือปัญหาการทำงานในช่วงแรก

เขียนไม่ออกก็พักแล้วออกไปท่องโลก

ปัญหาในช่วงต่อมาจะเป็นเรื่องว่าคิดธีมเรื่องไม่ออก ประมาณหมดมุขหรือวัตถุดิบหมด วิธีการคือต้องหาอะไรใหม่ๆ ให้ชีวิตบ้าง ไปลงเรียนเพิ่มเติม ไปเจอเพื่อนใหม่ คนใหม่ สิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ฯลฯ วิธีการที่ดีวิธีหนึ่งคือไปลงคอร์สสัมมนาเสียเงินแบบกลุ่มเล็กค่ะ เราจะเจอจอมยุทธอีกมากมายมารวมตัวกัน ได้ connection ได้วิธีการใหม่ๆ รู้จักคนใหม่แบบที่บอกข้างต้นและอีกวิธีก็คือหา connection เพิ่มทางโซเซี่ยลมีเดียค่ะ
ส่วนปัญหาตอนนี้คือเขียนหนังสือไม่ได้ตามเป้าเพราะงานการรุมเร้า วิธีการคือต้องวางแผนการเขียน วันหนึ่งๆ จะเขียนเรื่องอะไรบ้าง ไม่ต้องเน้นจำนวนชั่วโมงต่อวันต่อเรื่องมากแต่ต้องสม่ำเสมอและทำให้ได้ทุกวันเหมือนออกกำลังกายไม่งั้นไม่เห็นผล

8. อยากให้คุณหลินแชร์วิธีสร้างตัวตนบนโลกออนไลน์สำหรับนักเขียน

โซเซี่ยลมีเดียทุกประเภทเป็นคำตอบที่ดีที่สุดค่ะ เพราะเสียเงินน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับสื่อโฆษณาอื่นๆ แต่ให้เลือกใช้ให้เหมาะกับ content ของตัวเอง ถ้า content ของเราเป็นรูปเสียมาก Intragram และ pinterest จะเหมาะที่สุด แต่ถ้า content เป็นเนื้อหามากรูปน้อย blog จะเหมาะกว่า โดยใช้ facebook เป็นตัวส่ง content แต่ละประเภทไปยังกลุ่มเป้าหมายค่ะ
แต่ทั้งนี้ไม่ว่าจะทำ marketing online เก่งขนาดไหน ถ้า content ของเราไม่ดี ไม่น่าสนใจ คนเข้ามา visit เยอะก็จริงแต่ก็ออกไปไวเหมือนกันค่ะ คราวหน้าคนอ่านเขาก็ไม่อ่านอีก เพราะไม่มีประโยชน์อะไร ดังนั้นต้องทำ content ดีๆ ที่ตลาดสนใจออกมาควบคู่กันไปกับ marketing online ด้วยจึงได้ผล

9. ข้อคิดประจำตัวที่อยากแชร์ให้ผู้อื่นเพื่อเป็นแรงบันดาลใจในการทำตามฝันและทำสิ่งที่รัก

หาสิ่งที่ตัวเองรักและถนัดให้เจอค่ะ ถ้าสิ่งที่คุณรักมากแต่ลองทำแล้วไม่ถนัด หรือทำแล้วใช้เวลามาก กว่าจะเสร็จ หรือเมื่อเสร็จแล้วผลงานก็งั้น ๆ เฉยๆ ยังไม่ถือว่าโดดเด่นได้ ก็ขอให้เก็บมันเป็นงานอดิเรกค่ะ เป็นเครื่องชุบยาใจเวลาเราเหนื่อย เบื่อ เพลีย ท้อและเซ็ง
ถ้างานนั้นเราชอบและเราถนัด ดูง่ายๆ เลย เราทำออกมาได้ดี ใช้เวลาน้อยกว่าคนอื่น ชอบทำ ทำได้เร็ว ไม่เหนื่อย ถ้าเจอแล้ว ให้หาวิธีที่จะทำงานนั้นให้เป็นรายได้เลี้ยงตัวเอง เพราะคงไม่มีอะไรที่มีความสุขไปกว่าทำงานที่ชอบ ที่รัก ผลงานเป็นที่ยอมรับและงานของเราก็เลี้ยงชีพเราได้ด้วยค่ะ
จากนั้นอย่าหยุดนิ่งเหมือนนาฬิกาตาย หมั่นหาความรู้เรื่องนั้นใส่ตัว มีความสุขกับสิ่งนั้นมากๆ และพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ หลินขอเอาใจช่วยให้ทุกคนหาทางของตัวเองได้เจอเร็วๆ นะคะ

2 comments:

  1. คนอะไรแสวงหาความรู้มอบให้คนสนใจเป็นนักเขียน ต้องอ่านหนังสือหนักมากนะครับ เขียนนวนิยายเขียนเรื่องวรรณกรรมฝันนั้นจะเป็นจริงต้องเป็นคนอ่านหนังสืออ่านเป็นอาชีพจินตนาการของคนรุ่นศตวรรษที่๒๑มีเรื่องมากมายให้เขียนเรื่องความรักโรแมนติกเรื่องของคนมีความรักเห็นหน้าก็รักชอบศรัทธาแล้วอยากรู้จักความฝันของชีวิตมีทุกคน สำหรับคนที่อยู่บนโลกโซเชียนมีเดียน่าสนใจครับเรื่องที่แนะนำเขียนต้นฉบับเป็นภาษาไทยแล้วให้นักแปลดีๆตามต้นฉบับเป็นภาษาอังกฤษขายบนอเมซอนความฝันของนักเขียนรุ่นใหม่มากฝันนั้นจะเป็นจริงได้ต้องเขียนออกมาต้องปรูฟตัวหนังสือเองผิดไม่ได้อ่านบล็อกติดตามตลอดเวลาเขียนบล็อกไม่เป็นน่าจะเริ่มต้นได้ทันทีวันนี้เลย

    ReplyDelete
  2. ขอบคุณมากครับ

    ReplyDelete