Monday, August 31, 2015

วิธีส่งต้นฉบับให้สำนักพิมพ์เคาะผ่านนนน! จ้าา

ถึงแม้ fanpage นี้จะเป็น page เรื่องของ self-publishing  (เขียนเอง-ขายเอง) ไม่ว่าจะขายผ่าน Ookbee , Amazon หรือ Platform อื่นๆ แต่ตัวหลินเองนอกจากทำหนังสือขายเองแล้ว ก็ยังมีหนังสือทำขายผ่านสำนักพิมพ์ด้วย จึงมีคำถามจากแฟนเพจ แฟน blog ถามมาว่าทำไงถึงจะส่งต้นฉบับให้สำนักพิมพ์พิจารณาแล้วผ่านฉลุยยยยล่ะ?

อย่างที่เราพอจะเดากันได้นะคะว่า วันๆ นึง กองบรรณาธิการสำนักพิมพ์เนี่ย ได้รับต้นฉบับเยอะแยะเลยนะ ถ้าเปรียบเทียบไปก็ไม่ต่างจาก HR บริษัทที่วันๆ ต้องคุยกับผู้สมัครเพียบเลย ดังนั้น เค้าทั้งหลายก็จะไม่มีเวลาที่จะมาอธิบายว่าทีละรายๆ ว่าต้นฉบับนั้นๆ ทำไมถึงผ่านและส่งต่อให้หัวหน้าอ่าน หรือทำไมถึงโดนกดเข้า Trash ซะในพริบตา ><'

หลินเองก็เป็นอีกคนที่ส่งต้นฉบับไปให้สำนักพิมพ์พิจารณาเหมือนกันค่ะ ผ่านกระบวนนี้มาก่อน เลยขอรวบรวมวิธีการของตัวเองมาแชร์ให้กับแฟนเพจ แฟน blog แนะนำให้ปรับใช้ตามความเหมาะสม สูตรใครก็สูตรใคร เหมือนทำต้มยำ น้ำใส น้ำข้น เผ็ดแก่ เผ็ดกลาง อยู่ที่เราจะจัดนะคะ^^

ติดตามกันเลยยย!!



1. ดูเราว่าเขียนหนังสือแนวไหน? มีตลาด (คนอ่าน) ไหม? บางอย่างเนื้อหาอนาคตเกิ๊น ช่วงนี้ยังไม่ฮิตต้องรอเวลา ถ้ามีตลาด ตลาดนั้นใหญ่เล็กแค่ไหน? ถ้าเล็กขอให้จัด eBook ถ้าใหญ่พอให้จัดหนังสือเล่ม ดูว่าตลาดใหญ่เล็กดูยังไงน่ะเหรอ? ก็ถ้าร้านหนังสือที่มีสาขาตามห้างเค้ามีหนังสือแบบที่เราจะเขียนขาย แปลว่าตลาดใหญ่พอค่าาา (ง่ายไหม)

2. ดูว่าสำนักพิมพ์ไหน พิมพ์หนังสือแนวนี้บ้าง? shortlist ออกมา ข้อมูลนี้ก็หาไม่ยาก ไปหาได้จากร้านหนังสือเลย ตรงนี้ก็สำคัญ เพราะสำนักพิมพ์เค้าก็มีแนวถนัดหรือความเป็นเจ้าตลาดของเค้า ส่งผิดแนวก็จะไม่ได้รับพิจารณาเอาได้นะเออ (เหมือนกับยื่นผักบุ้งให้แมว แมวมันก็ไม่กินหรอก ต้องไปยื่นให้เต่าสิ ทำนองนี้ค่ะ)

3. ดูว่าเราจะทำยังไงให้หนังสือเราดีกว่าที่ขายอยู่ในท้องตลาด? เล่มที่เค้าขายดีเนี่ย? เค้าขายดีเพราะอะไร? เนื้อหาแบบไหน? ถ้าอ่านแล้วเรายังทึ่ง อย่างงี้กลับไปฝึกวิทยายุทธมาใหม่ก่อน แต่ถ้าอ่านแล้ว เห้ย! เกิดอาการมันเขี้ยว ว่าเราเขียนได้มากกว่านี้อีกเยอะ อย่างงี้พอจะมีลุ้น

4. เขียนสารบัญ ชื่อหนังสือ (คร่าวๆ) ตัวอย่างหนังสือสัก  30-40% ของเล่ม เพื่อเตรียมเป็นต้นฉบับ (ที่เหลือนึกไว้ในใจว่าจะเขียนอะไร ยังไงดี? ถ้าเป็นนิยายก็ต้องมีพล็อตตั้งแต่เริ่มจนจบ)

5. หาทางส่งต้นฉบับนี้ไปให้สำนักพิมพ์ ที่อยู่ contact หาจากอากู๋และร้านหนังสือ

6. เขียนใบปิดหน้าโฆษณาตัวเอง เราเป็นไผ? ส่งมาเมล์มาทำอันหยัง? ทำไงให้เค้าอยากอ่านเนื้อในของเรา? ทำไงให้เมล์เราโดดเด้ง? ต้นฉบับดิ้นปับๆๆ หน้าบก. (เว่อรรร์ม่ะ!!)

7. ถ้าทำได้ หาทางนัดเข้าไป present ต้นฉบับกับกองบก.เองเลยค่าา ยินดีจะไปคอย ยินดีไปรอ ถ้าไม่ได้ส่งเมล์ ส่งปณ. ทำทุกทาง (ดูด้วยน้าา--บางสำนักพิมพ์บอกเลยว่ารับเฉพาะเมล์ บางแห่งบอกรับเฉพาะปณ.)

8. หาทางส่งมากกว่า 1 สำนักพิมพ์เป็น plan B เพราะชีวิตต้องมีแผนสำรอง (สโลแกนอะไรน้าคุ้นๆ)

9. รออย่างมุ่งมั่นแต่ (พยายาม) เยือกเย็น (งงม่ะ?) คือเราตั้งตาคอยอยู่แล้วค่ะ แต่เราก็ต้องรอเป็นเรื่องธรรมดา ระหว่างนี้ก็อย่าเหี่ยวแห้ง อับเฉาให้พัฒนางานเขียนชิ้นใหม่ เล่มใหม่ต่อไป เพราะ J.K. Rowling ยังส่งต้นฉบับตั้งหลายหนนิ!
ข้างบนนี้เป็นวิธีที่หลินทำค่ะ แต่จริงๆ แล้วก็มีหลายวิธีที่มีคนอื่นเคยแชร์ไว้แล้วนะคะ ลองดูที่นี่ค่ะ
  • จากเว็บ Dek-D คำแนะนำสำหรับมือใหม่หัดเขียน + รวบรวมรายชื่อสำนักพิมพ์ที่รับต้นฉบับ รายละเอียดเงื่อนไขในการรับ ระยะเวลาในการพิจารณาหนังสือ (ส่วนใหญ่เป็นนิยาย)  http://www.dek-d.com/writer/34500/ (จอร์ช!! มันยอดค่าา)
  • จากเว็บ Dek-D  เหมือนเดิม แต่รวมสำนักพิมพ์เฉพาะนิยาย แยกรายสำนักพิมพ์พร้อมเงื่อนไขในการรับต้นฉบับ http://writer.dek-d.com/monvalee/story/view.php?id=866344
  • จากเว็บนานมี วิธีส่งต้นฉบับแบบละเอียดยิบๆ  http://www.nanmeebooks.com/reader/news_inside.php?newsid=741
ขอให้โชคดีกันทุกคนนะคะ อย่าลืมว่ากรุงโรมบ่ได้สร้างในวันเดียว ส่งต้นฉบับครั้งเดียวไม่ผ่านแล้วเลิก จะเสียเวลาที่เขียนมาทั้งหมดนะ ที่ถูกคือลองส่งใหม่ ถ้ายังไม่ผ่าน ลองถามหาจุดที่เราต้องปรับปรุง บก.บางคนบอก (บางคนไม่) ให้เอามาแก้ไขแล้วสู้กันใหม่ค่ะ!!

เอาใจช่วยนะคะ^^
หลิน



Friday, August 28, 2015

นักเขียนที่ดี VS นักเขียนที่ห่วย!

ฝรั่งเค้าว่าความแตกต่างระหว่างนักเขียนที่ดีกับนักเขียนที่ห่วย ไม่เกี่ยวกับเรื่อง "ความสามารถในการเขียน" เลยค่ะ แต่ต่างกันแค่นักเขียนที่ดีจะเขียนต่อ (ไป) และนักเขียนที่แย่จะเลิกเขียน !
มันคือแค่นั้นน (จริงอ๊ะ?!?)

ส่วนที่เหลือคือการพัฒนาตัวเอง มีอีโก้ให้น้อย และทำต่อไปเรื่อยๆ ไม่หยุดไม่ยอมแพ้ ไม่ไล่ไม่เลิก หรือไล่ก็ไม่เลิกประมาณนี้ค่ะ :)

เค้าลองลิสต์หัวข้อคร่าวๆ ของคุณสมบัติในการเป็นนักเขียนที่ดีและนักเขียนที่แย่ออกมา ลองมาทำ checklist ดูดีกว่า ว่าเราในฐานะเป็นนักเขียน เข้าข่ายตกอยู่ฝั่งไหนมากกว่ากัน?

เริ่มเลยยย!!




นักเขียนที่ดีเค้าว่าจะทำแบบนี้กันค่าาา

  1. ฝึกฝนการเขียน ใช้เวลากับการเขียน ขัดเกลา แก้ไขผลงานจนกระทั่งถูกใจ ใช้เวลาหลายชั่วโมง หลายวันเพื่อทำอะไรแบบนี้
  2. ยอมรับคำติชม ฟังทัังเสียงจากใจตัวเองและเสียงจากคนอื่่น  ทั้งหมดมีเป้าเดียวก็เพื่อพัฒนางานเขียนให้ดียิ่งขึ้นๆ
  3. ยอมรับว่างานเขียนตัวเองเวอร์ชั่นแรกมักห่วยแตก สิ่งที่จะทำให้งานเขียนเป็นระดับมาสเตอร์พีซได้คือฝึกฝน ฝึกฝนและฝึกฝน
  4. เชื่อว่าตัวเองทำได้ และทำได้แน่ๆ งานเขียนไม่ใช่แค่งานอดิเรก มันคือความฝัน ความสุข คือแรงบันดาลใจคือทุกอย่างของตัวเอง
  5. ไม่ต้องรอให้สมบูรณ์แบบ หาวิธีทำงานให้ดีที่สุดและส่งผลงานออกไปสู่สาธารณะ มันก็แค่นั้นนน



นักเขียนที่แย่มักจะชอบทำแบบนี้

  1. ไม่เข้าใจกระบวนการคิดข้างบน แต่กลับพยายามเขียน ๆ เพื่อให้ได้โล่ เพื่อให้บรรลุเป้าอะไรสักอย่าง  เขียนให้จบๆ ไป ให้เสร็จๆ ซะที ทั้งที่จริงงานเขียนคืองานศิลปะแขนงหนึ่ง ต้องใช้เวลา ใช้การฝึกฝนให้ดีขึ้นๆ จะเร่งรัด รีบร้อน (นัก) มันบ่ไม่ได้
  2. ไม่รับความคิดเห็นของคนอื่น หลายคนขอฟีดแบก แต่พอเป็นฟีดแบกเป็นลบ ก็รับไม่ได้ 
  3. ไม่คิดจะแก้ไข ปรับปรุงผลงานเขียนตัวเอง คิดว่านี่มันสุดยอดแล้วอ๊ะชั้นเนี่ย! จะให้แก้ตรงไหนอีก
  4. คิดว่าตัวเองยังไม่เก่ง ยังเป็นยาหม่องตราลิงถือท้อ ทำไม่ได้หรอก สู้คนอื่นไม่ได้
  5. รอจนพร้อม แล้วค่อยเขียนดีกว่า (ความจริง วันที่พร้อมที่สุดมักมาไม่ถึงซ้ากกที)

เป็นไงกันคะ checklist แล้วเราอยู่ฝั่งไหนมากกว่า?

แต่จริงๆ แล้ว เราเลือกได้นะคะว่าเราอยากอยู่ฝั่งไหน ถ้าตอนนี้เราค่อนไปทางไม่ดีก็ปรับปรุงซะ ถ้าดีแล้วก็ทำให้ตัวเองดีขึ้นๆ ไป เค้าถึงว่ามนุษย์เราพัฒนาตัวเองได้เพราะหยั่งงี้นี่เอง

เอาใจช่วยให้ทุกคนเป็นนักเขียนทีดียิ่งๆๆ ขึ้นต่อไปค่าาา

หลิน^^











Tuesday, August 25, 2015

วิธีให้ Amazon’s Top Customer Reviewers มารีวิวหนังสือเรา!!

หลินเพิ่งไปอ่านเจอบทความนี้มาค่ะ How To Get Amazon’s Top Customer Reviewers To Review Your Book ตัวหลินเองก็เพิ่งได้ความรู้ใหม่ตรงนี้ด้วย เลยแปลมาให้อ่านกันนะคะ คิดว่าจะเป็นประโยชน์มากๆ เลย กับคนที่จะเอาหนังสือไปขายที่ Amazon ค่า^^

ภาพจาก http://www.wordstream.com/


Amazon’s Top Customer Reviewers  คืออะไร? 

ก่อนจะเล่าก็ขอเกริ่นหน่อยเพื่อความเข้าใจง่ายว่า การซื้อขายของใน Amazon ก็ไม่ต่างอะไรกับการซื้อขายของออนไลน์ทั่วไป แม้กระทั่งในไทยเอง เช่น pantip market ดังนั้น การที่คนซื้อของ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าหรือเป็นหนังสือ ซื้อมาแล้วมารีวิวว่าของเค้าดีเจงๆ หรือหนังสือน่าสนใจจริงๆๆ (ไม่ใช้ม้า!) ก็จะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้คนที่จะซื้อตัดสินใจได้ง่าย รีวิวดีๆเยอะก็ขายได้เยอะ ขายได้เยอะคนก็กลับมารีวิวอีก วนลูปต่อไปเรื่อยๆ เค้าถึงว่าอะไรที่ขายดียิ่งขายดีขึ้นเรื่อยๆ ใช่ป่าวคะ

ที่นี้ที่ Amazon นี่ก็ยิ่งกว่า เพราะมีการจัดอันดับ Amazon’s Top Customer Reviewers ไว้ด้วย แปลเป็นไทยประมาณว่า "นักรีวิวระดับท๊อปของอะเมซอน" นักรีวิวพวกนี้มีจำนวนรีวิวที่เย๊อะมากกก คนที่ได้อันดับ 1 ณ วันนี้รีวิวไป 3,000++ รีวิว เอิ๊กกกกก..!!!! และก็ไม่ใช่รีวิวเอาปริมาณเข้าว่าด้วยนะ  รีวิวของเค้าเหล่านั้นได้รับการโหวตว่าเป็นรีวิวที่มีประโยชน์ต่อคนซื้อคนต่อๆ ไป คนที่ได้รับการโหวตว่ามีประโยชน์มากและจำนวนรีวิวมากพอ ก็จะได้ติด Amazon’s Top Customer Reviewers  !!!

นอกจากนี้ เมื่อเค้าเหล่านี้ไปรีวิวอะไรใน Amazon อีกก็ตาม ข้างใต้ชื่อเค้าตรงที่รีวิวก็จะขึ้นแถบว่าเป็น Top 500 reviewers หรืออื่นๆ ตามแต่จัดอันดับ สร้างความเชื่อมั่นให้เพิ่มไปอีกค่ะ

แล้วนักเขียนจะได้ประโยชน์อะไรนะ?

สั้นๆ เลย ถ้าได้รีวิวดีๆ จาก Top Customer Reviewers ก็จะช่วยสนับสนุนยอดขายหนังสือของเราด้วยค่ะะะ^^  เพราะนักรีวิวพวกนี้ ถ้าจัดอันดับดีๆ ส่วนใหญ่มี blog หรือเว็บไซด์ของตัวเอง  มีฐานแฟนคลับของตัวเองจำนวนมาก พอเค้ารีวิวหนังสือเรากลุ่มแฟนคลับที่ติดตามเค้าอยู่ก็จะเห็นหนังสือหรือสินค้าของเราไปด้วยค่ะ  เราจึงได้โฆษณาฟรีแบบไม่ต้องเสียเงินค่าโฆษณาค่าา เฮ!!)

แล้วจะทำไงให้เค้ารีวิวล่ะ บ้านก็ไม่ใกล้กันซะหน่อย เค้าก็ไม่รู้จักเราด้วย เค้าจะยอมรีวิวให้เราง่ายๆ เหรอ?

ลองทำแบบนี้สิคะ :)


  1. ไปที่ลิงค์นี้ https://www.amazon.com/review/top-reviewers  
  2. จะมีรายชื่อนักรีวิวเยอะแยะเลยค่ะ ให้เลือกดูประวัติการรีวิวของเค้าล่าสุดว่าเค้ารีวิวสินค้าหรือหนังสืออะไรบ้าง สำคัญ*** บางคนไม่รีวิวหนังสือนะคะ รีวิวเฉพาะของที่ขายใน Amazon***
  3. สำหรับหนังสือ ให้ดูหัวข้อ interest ว่าเค้าสนใจหนังสือประเภทไหน?  บางคนเขียนเลยว่าไม่รีวิวนิยาย ไม่รีวิวเรื่องสั้น ฯลฯ
  4. เลือกมาสัก 3-4 คนค่ะ จะต้องเลือกเผื่อไว้ด้วยเพราะต้องทำใจรับหากเค้าไม่ตอบรับรีวิวของเรา
  5. หาอีเมล์ของเค้าในหัวข้อ contact information แล้วส่งไฟล์หนังสือของเราไปหา เขียนโน้ตสั้นๆ ไปด้วยว่าอยากให้เค้ารีวิวให้ เพราะเห็นว่าคุณสนใจหนังสือแนวนี้ และขอบคุณมากๆ


ถึงแม้ว่านักรีวิวจะช่วยให้กระตุ้นยอดให้หนังสือเราขายดี แต่เหล่านี้คือ ***ข้อเสียที่เราต้องเตรียมใจรับไว้ หากเราขอให้รีวิวค่ะ***


  1. เค้าอาจจะไม่ตอบ ไม่สนใจเงียบไปเลย (แต่เรา back up ไว้แล้วด้วยการเลือก 3-4 คน)
  2. เค้าจะรีวิวว่าหนังสือเราห่วย !!! อ๊ากกซซ์์!!  ทางแก้อันนี้คือเราควรต้องคัดเลือกคนที่เราจะรีวิวด้วย ด้วยการเข้าไปดูในลิงค์  Amazon’s Top Customer Reviewers ข้างบน ใช้เวลาและเลือกอย่างพิถีพิถันหน่อย ไม่ใช่หว่านแหแล้วส่งๆ ไป ถ้าไม่ต้องกับความสนใจของเค้า เค้าอาจรีวิวผิดๆ ถูกๆ ก็ได้
เคล็ดลับนี้หลินว่าไม่เลวนะคะ เหมือนกับเราได้โฆษณาหนังสือไปในตัวแบบฟรีๆ แต่ต้องเลือกให้ดีว่าจะให้คนไหนรีวิวหนังสือเรา ในกรณีที่เราขายของก็ลองหาช่องทางให้เค้ารีวิวสินค้าของเราผ่านทาง Amazon’s Top Customer Reviewers ก็ได้ เพราะมั่นใจว่าคนอื่นๆ หรือชาติอื่นๆ ที่ซื้อของก็อยากได้ความเชื่อมั่นในรีวิวผ่าน Amazon’s Top Customer Reviewers ทั้งนั้นนนค่าา^^

โชคดีกันทุกคนนะคะ ว่าแล้วหลินไปลองหา Amazon’s Top Customer Reviewers มารีวิวมั่งดีกว่าา

หลิน^^











Sunday, August 23, 2015

แผนการตลาดสำหรับนักเขียน ฉบับทำเองขายเองก็ได้!

สวัสดีค่ะ ก่อนอื่นหลินต้องขอโทษอย่างมากๆ เลยที่ห่างหายจากจากการโพสไปหนึ่งอาทิตย์เต็มค่ะ เพราะมีภารกิจไปเรียนหนังสือแบบหามรุ่งหามค่ำ (ส่องกระจกอีกที เอ้ย แก่ไปเยอะแระ T_T) วันนี้กลับมาแล้วนะคะ และเหมือนเดิมพยายามหาอะไรที่มีประโยชน์ต่อนักเขียนอย่างเราๆ มาแบ่งปันค่ะ หวังว่าจะได้ประโยชน์กันทั่วหน้าเลยน้าาา อย่าเพิ่งหนีหายกันไปนะคะ^^

อย่างที่เรารู้กันนะคะว่า เดี๋ยวนี้พลังของสื่อสมัยก่อน ( traditional media) (นสพ. ทีวี วิทยุ ฯลฯ) เริ่มเสื่อมความขลังลงๆ เหตุผลก็เพราะ social media มาแทนที่ คนดูทีวีน้อยลง ฟังวิทยุน้อยลง แต่ดู youtube และเล่นเฟสวันละ 7-8 ชั่วโมง เฮือก!!

ดังนั้น เราในฐานะนักเขียนถ้าเรามัวแต่รอให้สำนักพิมพ์ช่วยโปรโมทให้ ผลลัพธ์ก็อาจจะช้า ยิ่งกว่านั้นถ้าเราไม่มีสำนักพิมพ์แบ็คอัพล่ะ?!!

คำตอบก็คือต้องทำเองแล้วล่ะค่ะ หลินยังเชื่อเสมอนะคะว่าเดี๋ยวนี้ต่อให้หนังสือดีมากแค่ไหนแต่ถ้าคนไม่รู้จักก็ไม่ซื้อค่ะ  แผนการตลาดจึงสำคัญและจำเป็นสำหรับนักเขียนทุกคน ไม่ว่าจะมืออาชีพ มือสมัครเล่น จะเป็น self-publishing หรือพิมพ์ผ่านสำนักพิมพ์ และไม่ว่าขายผ่านที่ไหน Ookbee, Amazon หรือตลาดอื่นๆ แผนการตลาดเป็นสิ่งสำคัญที่ควรทำ นอกเหนือจากคิด content ดีๆ ค่ะ

มาติดตามแผนการตลาดสำหรับนักเขียนอย่างเรากันค่ะ เอาไว้เป็นแนวทางนะคะ ปรับใช้เพิ่ม-ลดได้ตามความสะดวกได้เลย


ภาพจาก http://www.cootransuroccidente.com/


1. เริ่มทันที  ถ้าเราวางแผนจะเป็นนักเขียนและจะมีผลงานเขียนออกมาแน่ๆ หรือมีงานเขียนแล้วก็ตามแต่ยังไม่เคยทำการตลาดเองเลย หลินบอกว่าเราเริ่มกันเลยค่ะ ไม่ต้องรออะไรแล่ว เพราะอย่าลืมว่าเราต้องใช้เวลาเหมือนกันนะ กว่าคนจะรู้จัก กว่าจะเข้าใจสไตล์แฟนคลับของเรา กว่าจะรู้ว่า platform อันไหนเหมาะกะหนังสือเรา กว่าจะ...ฯลฯ ดังนั้น เริ่มเลยอย่าได้มัวแต่รอ

2. มีเว็บไซด์  นักเขียนฝรั่งเค้าแนะนำว่าควรมีเว็บไซด์ของตัวเองค่ะ  หลินเองก็เห็นด้วยนะและเป็นแผนของตัวเองในอนาคตเหมือนกัน เพราะว่า platform  อื่นๆ ก็เป็นของคนอื่น เช่น  facebook fanpage วันนึงเค้าเปลี่ยนระบบที organic reach ลดลงๆ จนตอนนี้เหลือแค่ 1% จากยอด Like ทั้งหมดเป็นต้นค่ะ 

3. หา email list ของลูกค้าของเราให้ได้  วิธีนี้เค้าแนะนำว่าเราอาจจะทำหนังสือแจกฟรีฉบับย่อๆ (แต่เนื้อต้องน่าสนใจด้วยนะ) แล้วแจกให้ผู้อ่านที่สนใจอยากอ่านโดยวิธีส่งเมล์มาหาเรา แล้วเราส่งหนังสือกลับไป วิธีนี้เราก็จะได้เมล์ของกลุ่มผู้อ่าน ที่สนใจในเรื่องที่เราเขียนค่ะ ต่อไปเวลาเรามีหนังสือออกใหม่หรืออยากจะบอกอะไรลูกค้ากลุ่มนี้ ก็สามารถใช้เมล์นี้ในการติดต่อได้ กระซิบนิดนุง หลินเองก็ใช้วิธีเหมือนกัน หลินแจกหนังสือตัวอย่างของตัวเองให้ผู้ที่สนใจอ่านฟรีๆ ประมาณ 30% ค่ะ ด้วยวิธีนี้ก็ทำให้ได้เมล์ของกลุ่มลูกค้าที่สนใจเรื่องที่เราเขียนมาค่ะ^^ ไม่ได้ส่งแบบหว่านแหเพราะไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายและบางทีกลายเป็น junk mail สำหรับเค้าไปซะอีกด้วย

4. ทำเนื้อหาใน platform นั้นๆ ให้น่าสนใจ ไม่ว่าเราจะใช้ platform อะไร Intragram, pinterest, facebook, twitter ฯลฯ ทำเนื้อหาให้สร้างสรรค์ ให้น่าสนใจ ให้คนอ่านติดตาม วิธีนี้ถ้าทำได้ตรงเป้าจะได้ 2 เด้ง เด้งแรกมีฐานแฟนคลับเพิ่มขึ้นๆ เด้งสองถ้ามีคนเข้ามาอ่านใน platform ของเรานานๆ และเยอะๆ google จะจับได้ทำให้ เนื้อหาของเราขึ้นหน้าแรกๆ ใน google เวลามีการค้นหาค่ะ สรุปว่าได้ทั้งคนได้ทั้งเครื่องนะ อิ อิ

5. ใช้ platform ให้เหมาะกับเนื้อหาของตัวเอง ไม่จำเป็นเลยที่เราต้องไปทุกๆ social media ในทางกลับกัน เราควรหาว่าเนื้อหาของเราเหมาะกับ platform อันไหนมากกว่า เช่น หลินเป็นคนชอบเขียนยาวๆ blog กะ website จะตอบโจทย์ที่สุด บางคนถ่ายรูปสวย instragram , pinterest จะเหมาะที่สุดเป็นต้นค่ะ นอกจากนี้ควรต้องคอยหมั่นดูว่า platform นั้นๆ เค้ามีการเปลี่ยนระบบอะไรไหม และที่เปลี่ยนกระทบอะไรกับเรารึเปล่า จะได้คอยหาทางหนีทีไล่


จบแล้วนะคะ ใครมีเทคนิคอะไรอยากแชร์บอกให้หลินรู้บ้างนะคะ ข้าน้อยยังต้องศึกษาอีกมาก ขอคารวะอาจารย์ทุกท่านค่าาา

หลิน^^








Friday, August 14, 2015

นิสัยการเขียน เราสร้างได้!

วันนี้มีบทความของฝรั่งมาแบ่งปันค่ะ เหมาะกับคนรักอาชีพนักเขียนอย่างเรามากๆ เค้าว่านักเขียนที่แท้จริง เค้าเขียนหนังสือกันทุกวัน เพื่อสร้างนิสัยชอบเขียน ขอให้เชื่อเถอะว่า นักเขียนที่ดีจริง เก่งจริง แท้จริงแล้วมาจากระเบียบวินัย ไม่ใช่พรสวรรค์!

ความแตกต่างของนักเขียนมืออาชีพกับนักเขียนสมัครเล่น มีอยู่ข้อเดียวคือ "การฝึกฝน" ที่ต่างกันเท่านั้น

เทคนิคก็คือต้องสร้างนิสัยการเขียน ทำๆๆๆ ทุกวัน ทำจนกระทั่งไม่ต้องคิดว่าจะเขียนก็เขียนเองโดยอัตโนมัติ

3 วิธีช่วยสร้างนิสัยการเขียน




  1. เลือกสถานที่ที่จะเขียน จะเป็นที่ไหนก็ได้ค่ะ ขอให้เป็นที่ๆ เราชอบ มีความสุข นั่งสบาย มีแรงบันดาลใจ (อย่าหลับนะคะะ)
  2. เลือกเวลา เหมือนข้างบนค่ะ จะเป็นเวลาไหนก็ได้แต่ขอให้เป็นเวลาเดียวกันของทุกๆ วัน ขอให้ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่เรานั่งลงและเริ่มต้นเขียน ไม่ต้องแคร์ว่าจะมีเรื่องจะเขียนหรือเปล่า ให้คิดว่าเราจะเขียนในช่วงเวลานี้ล่ะ ถ้าไม่อย่างนั้นก็จะไม่มีวันเริ่มซะที (อ่ะนะ)
  3. ตั้งเป้าหมาย จะเป็นกี่หน้าหรือเป็นกี่คำก็ได้ โดยทั่วไปค่าเฉลี่ยของคำที่สามารถสร้างนิสัยงานเขียนได้อย่างสม่ำเสมออยู่ที่ 300-1,000 คำ ถ้านับเป็นหน้าก็ประมาณ 2-3 หน้าA4 (หน้าละ 400 คำโดยประมาณค่ะ)
ตำราฝรั่งเค้าบอกให้ทำซ้ำๆ ทำสม่ำเสมอ ทำทุกวันแบบนี้ไปเรื่อยๆ ภายในไม่กี่เดือน เราจะเขียนได้เร็วขึ้นและง่ายขึ้นค่ะ

พอถึงจุดนี้ ก็อาจจะมีคนตั้งคำถาม เพราะเข้าสู่โหมดต่อมาก็คือ...

"แล้วจะเขียนอะไร?" "นึกไม่ออก!"???

อย่าได้แคร์ค่ะในช่วงเริ่ม ให้เขียนไปก่อนเพราะถ้านิสัยรักการเขียนยังไม่เริ่ม งานเขียนก็ยากที่จะทำได้ดี ขอให้ใช้ช่วงเวลานี้ในการฝึกฝนตัวเองให้ดีขึ้นๆ

ถ้าคิดไม่ออกจริงๆ ลองเขียนเรื่องพวกนี้ดูค่ะ

  • เขียนเรื่องรอบๆ ตัวเรา
  • เขียนว่าเราทำอะไรบ้างวันนี้
  • เขียนภาคต่อหรือบทต่อ ของหนังสือตัวเองที่ยังค้างอยู่
  • เขียนถึงเป้าหมายของตัวเอง อยากเป็นหรืออยากทำอะไร
  • เขียนอะไรก็ได้ที่อยากเขียน!

หลายคนอาจคิดว่าเขียนอะไรก็ได้แล้วจะเขียนไปทำไม (ยะ) จริงๆ ถ้าพูดถึงการสร้างนิสัยในการเขียน อย่างน้อยเราก็มีก้าวแรกที่จะก้าวต่อไปค่ะ ดีกว่าไม่มีก้าวแรกเลยก็ไม่ได้เริ่มซะทีเลยนะ

สู้ต่อไปทาเคชิค่าาา

หลิน^^

http://goinswriter.com/start-writing-daily/



Tuesday, August 4, 2015

รวมแหล่งคนทำฟรีแลนซ์ฝรั่ง ตัวช่วยนักเขียนอิสระอย่างเราๆ!

ปัญหาอย่างหนึ่งของนักเขียนอิสระ โดยเฉพาะเวลาเราทำหนังสือไปขายเมืองนอกไม่ว่าจะเป็นที่ Amazon หรือที่อื่นๆ คือเราขาดตัวช่วยภาษาอังกฤษ หรือเข้าใจสไตล์ที่ฝรั่งชอบค่ะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการช่วยแก้ไวยากรณ์ ช่วยเขียนรีวิว ช่วยทำปกสไตล์ที่ฝรั่งชอบหรืออื่นๆ

ซึ่งตรงเนี้ยบางอย่างเราก็จ้างฟรีแลนซ์ในไทยได้ แต่บางอย่างที่เกี่ยวกับภาษาอังกฤษ บางทีเราก็จำต้องจ้างคนเมืองนอกมาช่วยค่ะ

วันนี้หลินรวบรวมแหล่งทำคนฟรีแลนซ์ฝรั่ง มาเป็นตัวช่วยนักเขียนอิสระอย่างเราแล้วววค่าาา

ซึ่งจริงๆ บริการของเค้าไม่ได้มีเฉพาะแค่รับจ้างเขียน หรือรีวิวเท่านั้น ยังมีออกแบบปกหนังสือ ออกแบบโลโก้บริษัท เว็บไซต์ รีวิวสินค้า ออกแบบเครื่องเขียน เรียกว่าเกือบทั้งหมดที่เกี่ยวกับ online marketing กันเลยทีเดียว

ส่วนราคาก็มีหลากหลาย มีตั้งแต่แบบถูกๆ 5 USD ขึ้นไปถึงเป็นหลายร้อยเหรียญ ขึ้นอยู่กับการตกลงกันล่วงหน้าของผู้ว่าจ้างกับ freelancer ค่า

มารู้จักเว็บให้บริการพวกนี้กันบ้างดีกว่า เก็บไว้เป็นทางเลือกสำหรับหนังสือของเรานะคะ^^

  1. https://99designs.com  

ให้บริการออกแบบตั้งแต่โลโก้บริษัท ออกแบบเว็บ ทำภาพประกอบ ทำกล่องบรรจุภัณฑ์ ฉลาก ทำหนังสือ นิตยสาร และงานออกแบบเล็กๆ น้อยๆ ค่ะ 

หากว่าสนใจลองกดที่ link How it works ดูค่ะ คร่าวๆก็คือเหมือนเป็น design contest ค่ะ คือเราประกาศความต้องการ และงบประมาณของเราไป บรรดาfreelancer ที่สนใจก็จะส่งงานมาให้เราดู สุดท้ายเราก็เลือกอันที่เราถูกใจมากที่สุดเป็นอันปิดดีล




จุดเด่นคือให้บริการเรื่องการเขียนเป็นเรื่องเป็นราวมากค่ะ มีให้บริการเขียนบทความ เขียนรีวิวสินค้า รับจ้างเขียนบล็อก มีนักเขียนเขียนสูตรอาหารด้วย!


      3.  https://www.freelancer.com  


ให้บริการคล้ายๆ กับ 99designs ค่ะ ที่ freelancer จะส่งงานมาให้ผู้ว่าจ้างเลือก คนที่ถูกใจผู้ว่าจ้างที่สุดก็จะได้งานไป แต่สำหรับงานเขียนจะให้บริการแตกย่อยเฉพาะออกไปอีก เช่น รับจ้างเขียนหนังสือ รับจ้างเขียนบทความวิชาการ ทำโพส แปลเอกสาร เขียนบล็อก เขียนสโกแกน edit ภาษาให้ พิสูจน์อักษรให้ ฯลฯ เยอะะะจริงๆ ค่ะ ส่วนค่าบริการเริ่มตั้งแต่ 10 USD ขึ้นไป


      4.  http://www.guru.com/  


ให้บริการเรื่องเว็บไซด์ ออกแบบเว็บ ให้บริการงานเขียนทุกประเภท จ้างทำ Online marketing และให้บริการด้านกฏหมายด้วยค่ะ



       5.  https://www.upwork.com/ 



ให้บริการกราฟฟิคดีไซน์ งานเขียนประเภทต่างๆ  ทำ mobile developers ทำเว็บ รับจ้างทำบัญชีให้ยังมี!


ลองเลือกดูนะคะ ว่าอันไหนจะเหมาะกับเรา แต่หลินว่าพอมีตัวช่วยแล้วทำให้หนังสือเราง่ายขึ้นพอควรเลยล่ะ
หลิน^^